ในการฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
มีพระราชดำริที่จะสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดัง “ประกาศสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.
2470 ความตอนหนึ่งว่า
“...สมควรจะมีการสมโภชพระนครเป็นการรื่นเริงบันเทิงใจทั่วกัน แต่การรื่นเริงนั้น
ชั่วขณะเดียวแล้วก็จะผ่านพ้นไปไม่มีสิ่งไรเหลือ
สมควรจะคิดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งจะเหลืออยู่เป็นที่ระลึกในอภิลักขิตสมัยนั้นไว้ชั่วกาลนานด้วย...
ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่มีสิ่งอื่นจะดีไปกว่าสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์
เป็นที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์ผู้สร้างมหานคร อันนี้...”
เรื่องพระบรมรูปนั้น ในครั้งแรกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเสนอว่า
“…ตามที่เคยทำมาแต่ก่อน พระเทพบิดรว่าทำเป็นรูปเทวดา
ภายหลังมาแปลงเป็นพระพุทธรูป รุ่นหลังลงมาทำเป็นพระพุทธรูปทั้งนั้น มีพระศรี- สรรเพชญ์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธเลิศหล้านภาไลย
เป็นต้น แต่เวลานี้จะทำเป็นพระพุทธรูปเห็นจะไม่สมสมัย
จึงคิดว่าทำเป็นรูปกษัตริย์ทรงขัตติยภรณ์กุมพระแสงขรรค์ตามแต่ช่างจะเห็นงามอย่าง
ทำรูปเทวดาเป็นดี ในการที่ทำเช่นนี้จะมีคนเข้าใจต่างๆ กันไปได้ตามประสาใจตน จะเข้าใจว่าเป็นพระบรมรูปโดยสมมติก็ได้
เป็นเทวดา
คือพระบรมรูปในปรโลกก็ได้ จะเป็นเจ้าก็ได้ ถ้าฝรั่งก็คงเข้าใจอย่างที่เขาเรียกว่า อัลเลโกริค (Allageric)
เห็นว่าอย่างไรก็ได้ใช้เป็นกลางๆ ไม่มีโทษ…”
ในการประชุมครั้งนั้น นอกจากเรื่องรูปแบบของพระบรมรูปแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังเสนอสถานที่สร้างให้สร้างที่บริเวณวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วย
ซึ่งเบื้องต้นมิได้มีการคัดค้าน
เพียงแต่ยังตกลงไม่ได้ว่าจะสร้างพระรูปเป็นพระบรมรูปหรือรูปเทวดา
และดูเหมือนว่าพระดำริของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็จะได้รับการยอมรับด้วยดี
แต่ในการประชุมครั้งที่ 2 และ 3 เริ่มมีความเห็น ที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น
สุดท้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด
“ให้ทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเหมาะที่สุดแก่รูปการคราวนี้ เพราะว่าถ้าไม่ได้สร้างทำในคราวนี้แล้ว
การก็จะชักลากไปอีกนานกว่าจะได้ทำ…ส่วนพระบรมรูปนั้นให้ทำที่บริเวณใกล้สะพาน”ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์
และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเสียในคราวเดียวกัน
ในการดำเนินงาน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
เป็นนายก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทรัพย์ 2 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นการบริจาคของประชาชน
กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมรับผิดชอบการสร้างสะพาน โดยให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง ออกแบบโครงร่างสะพานและส่วนประกอบ
เพื่อเรียกประกวดราคาจากบริษัทต่างๆ ผลปรากฏว่าบริษัท ดอร์แมนลอง จำกัด แห่งประเทศอังกฤษเป็นผู้ชนะการประกวด
ในส่วนของพระบรมรูปนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงดำเนินการออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง
ทรงร่างแบบแปลนพระบรมรูป นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2472
เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว โปรดให้นายเฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี)
ประติมากรชาวอิตาลีของกรมศิลปากรเป็นผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูป ก่อนส่งไปหล่อสัมฤทธิ์ที่ประเทศอิตาลี
ระหว่างที่ส่งพระบรมรูปไปหล่อก็ได้จัดทำแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เตรียมไว้