อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของไทยในกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส
อันมีสาเหตุเนื่องจากรัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอาณานิคมของฝรั่งเศสด้านอินโดจีนให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่ฝรั่งเศสพยายามประวิงเวลาเรื่อยมา กระทั่งถึง พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2
ฝรั่งเศสจึงขอทำสัญญาสงบศึกกับไทย และสัญญาจะไม่รุกรานไทย เพราะอยากเปิดศึกสองด้าน
รัฐบาลไทยจึงยินยอมโดยมีเงื่อนไขให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเขตแดนให้เรียบร้อย ทั้งต้องคืนดินแดนลาวและกัมพูชาที่ยึดไปกลับคืนให้ไทย
ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอ และเริ่มรุกรานไทยด้วยการยิงปืนข้ามแม่น้ำโขง ส่งเครื่องบินล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย และในวันที่ 28
พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เครื่องบินฝรั่งเศสได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม
ไทยจึงตอบโต้และเคลื่อนกำลังเข้ายึดดินแดนในอินโดจีนส่วนที่เป็นของไทยกลับคืนมาหลายแห่ง การรบดำเนินอยู่จนวันที่ 28 มกราคม
พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นขอเสนอตัวเป็นกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท ผลทำให้ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนบางส่วนในอินโดจีนให้ไทย ได้แก่
หลวงพระบางฝั่งขวา จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ และพระตะบอง ในการรบครั้งนี้ฝ่ายไทยสูญเสียทหารและพลเรือน 59 นาย
เมื่อเหตุการณ์สงบ รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
มีมติให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการสงครามและประสบอันตรายถึงแก่ชีวิต
เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติวีรกรรม และเป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นต่อมา ให้ชื่อว่า “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”
โดยกำหนดพื้นที่ก่อสร้างบริเวณสี่แยกถนนราชวิถีตัดกับถนนพญาไท และต้นถนนพหลโยธิน (ขณะนั้นเรียกว่าถนนประชาธิปัตย์) พื้นที่
6,781 ตารางวา มีหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นหัวหน้าช่างปั้น
พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งตรงกับวันชาติ
และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดในวันชาติของปีถัดมา คือ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เป็นประธานในพิธีเปิด มีพิธีสวนสนามของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ หน่วยโยธาธิการ ยุวชนทหาร อาสากาชาด
และยุวนารีกับนักเรียน