อุทกทาน (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) แห่งนี้ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
เพื่อพระราชทานน้ำดื่มให้แก่คนที่ผ่านไปมาขณะที่กรุงเทพฯ เริ่มมีน้ำประปา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสได้ถวายคำแนะนำให้สร้างเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม
โดยมีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม สามารถใช้ดื่มกินได้
อุทกทานนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบรูปปั้นนางพระธรณี และพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ)
เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบซุ้มเรือนแก้ว ดำเนินงานจัดสร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
เป็นเงิน 16,437 บาท
ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2460 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นผู้แทนพระองค์ไปประกอบพิธีเปิด
ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยายมราช มีความตอนหนึ่งว่า
“พรุ่งนี้ฉันจะทำบุญวันเกิด ให้คุณจัดเปิดรูปนางพระธรณีท่ออุทกทาน ซึ่งฉันได้ออกทรัพย์ให้หล่อขึ้นสำเร็จ ตั้งไว้ ณ
เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และขออุทิศท่ออุทกทานนี้ให้เป็นสาธารณทานแก่ประชาชนผู้เป็นเพื่อนแผ่นดินใช้กินบำบัดร้อนและกระหาย
เป็นความสบายตามปรารถนาทั่วกันเทอญ”
คำว่าอุทกทานมีความหมายว่าการให้ทานด้วยน้ำ ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมแห่งนี้จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงธรรมเนียมอันดีงามของสังคมไทย
และความห่วงใยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์
อนึ่ง “อุทกทาน” นั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยในอดีตได้เคยประพฤติกันมา นั่นคือธรรมเนียมการตั้งตุ่มน้ำไว้ที่หน้าบ้าน
มีกระบวยสำหรับตักดื่มวางไว้ด้วย เป็นที่รู้กันว่าตุ่มน้ำหน้าบ้านนี้ใครผ่านไปมาสามารถตักดื่มได้ เพราะเจ้าของบ้านตั้งไว้เป็น “อุทกทาน”
ปัจจุบันอุทกทานหรือพระแม่ธรณีบีบมวยผมได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพบูชาจากประชาชน มีผู้นำทองคำเปลวไปปิด
และนำดอกไม้ไปบูชาน้ำที่ไหลจากท่อลงมาถือว่าเป็นน้ำมนต์ สถานที่แห่งนี้จึงมีลักษณะเป็นเทวาลัยหรือสถานที่ประดิษฐานเทวรูปมากกว่าจะเป็นอนุสาวรีย์