ครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2457 อันเป็นสงครามระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรีย
และตุรกี กับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม รัสเซีย และอีกหลายประเทศ มหาสงครามนี้กินเวลายืดเยื้อนานถึง 4 ปี
ประเทศไทยซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศตนเป็นกลาง แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามโดยประกาศร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร โปรดเกล้าฯ
ให้ส่งกองทูตทหารออกไปทำการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ทวีปยุโรป ซึ่งมีนายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดินทร ณ อยุธยา)
เป็นหัวหน้าทูตทหาร คณะทูตทหารได้ออกเดินทางเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2460
ส่วนทหารนั้น รัฐบาลได้ประกาศเรียกพลอาสาสมัคร เพื่อจัดตั้งกองทหารส่งไปในงานพระราชสงคราม เมื่อฝึกหัดเสร็จเรียบร้อย
ทหารหาญจำนวน 1,284 นายเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ถึงเมืองท่ามาร์เซลส์
ประเทศฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม และได้เข้าร่วมสงครามจนสงบศึก ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ ลงนามในหนังสือสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยทหารไทยได้ร่วมในการเดินขบวนสวนสนามฉลองชัยชนะท่ามกลางมิตรประเทศทั้งที่ประตูชัย
ประเทศฝรั่งเศส กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม
เหล่าทหารอาสาสมัครเดินทางกลับถึงเมืองไทยในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462
กองทหารเดินสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนทหารที่เสียชีวิตในราชการสงคราม จำนวน 19 นาย ได้จัดการฌาปนกิจ ณ ทวีปยุโรป แล้วเชิญเฉพาะอัฐิกลับมา
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่บรรจุอัฐิ
และเป็นอนุสรณ์สถานถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไปพร้อมกัน โดยในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2462
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีบรรจุอัฐิทหารอาสาที่ฐานอนุสาวรีย์ ทรงวางพวงมาลา
กองทหารเดินสวนสนามฝ่านอนุสาวรีย์แสดงความเคารพ และพระราชทานนามเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางราชการได้ถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันประกอบพิธีวางพวงมาลา