การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ยังผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การยึดอำนาจการปกครองของคณะราษฎร ได้กระทำในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6
ประการ อันเป็นการวางแนวนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ
- ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร์
ภายหลังจากวันที่ยึดอำนาจการปกครอง คณะราษฎรก็ได้พยายามบริหารประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งหลัก 6 ประการที่ได้ประกาศไว้
โดยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ความพยายามที่จะเป็นประชาธิปไตย
เพื่อสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายก็พยายามที่จะคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย
พ.ศ. 2481 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งดำรงยศเป็นพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2482
จอมพล ป. ได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติ พร้อมกับให้มีการเฉลิมฉลองด้วย ในงานฉลองวันชาติปีแรกนี้ จอมพล ป.
มีดำริที่จะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของชาติ และเพื่อให้ประชาชนตระหนัก
ตลอดจนช่วยกันพิทักษ์รักษาเทิดทูนรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสืบไป
จอมพล ป. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อคัดเลือกสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ คณะกรรมการประชุมพิจารณากันหลายครั้ง
ในที่สุดลงมติเห็นควรสร้างอนุสาวรีย์ที่แนวถนนราชดำเนิน ตรงบริเวณที่ถนนดินสอที่รัฐบาลกำลังสร้างมาจากทางสะพานวันชาติ
ประกอบกับขณะนั้นรัฐบาลมีโครงการบูรณะถนนราชดำเนินให้สวยงาม บริเวณนี้จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมยิ่ง โดยสร้างวงเวียนโดยรอบ มีอนุสาวรีย์อยุ่ตรงกลาง
คณะกรรมการนำความเห็นเสนอรัฐบาล ซึ่งก็ได้รับความสนับสนุน และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันฉลองวันชาติและสนธิสัญญาซึ่งแสดงความเป็นเอกราชของชาติ เป็นวันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
จอมพล ป. เป็นประธานในพิธี ส่วนในด้านการดำเนินงาน รัฐบาลมอบหมายให้กรมศิลปากรโดยศาสตราจารย์ศิลปะ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบตามแนวความคิดที่กำหนด
การก่อสร้างเริ่มในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2483 จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีขณะนั้น
เป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483
สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเป็นเงิน 250,000 บาท