เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์สมบัติได้ 42 ปี ใน พ.ศ. 2451
เป็นรัชกาลที่ยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ปกครองมาในเวลานั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง
และประชาชนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้จัดงาน “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” สมโภชเฉลิมฉลอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงเป็นประธานกรรมการ ทรงให้ความเห็นในที่ประชุมเสนาบดีว่า
“...ชักชวนชาวสยามทุกชาติทุกภาษาทั่วพระราชอาณาเขตให้บริจาคทรัพย์ตามกำลัง
รวมเงินนั้นทูลเกล้าถวายเป็นของชาวสยามรายตัวทั่วหน้าพร้อมใจกันสนองพระเดชพระคุณอย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ทำขวัญ”
แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชฤทัย”
ขณะที่กำลังรวบรวมทรัพย์อยู่นั้นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป (ครั้งที่ 2)
คณะกรรมการทราบข่าวว่า พระองค์โปรดพระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้า หล่อด้วยสัมฤทธิ์
ซึ่งตั้งอยู่ที่ลานข้างพระราชวังแวร์ซาย ณ ประเทศฝรั่งเศส ถึงกับมีพระราชปรารภว่า ถ้ามีพระบรมรูปของพระองค์แบบทรงม้า
ประดิษฐานไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมช่วงที่ต่อกับถนนราชดำเนินก็จะสง่างามดี
คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าสมควรสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายตามพระราชปรารถ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้าง“พระบรมรูปทรงม้า” ตามแบบพระรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ทรงม้า
ซึ่งเป็นแบบที่พระองค์ทรงโปรด
เมื่อตกลงจะสร้างพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทำการตกลงและเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เอง โดยทรงเลือกจ้างโรงหล่อในฝรั่งเศสชื่อว่า ซูสแฟร์
ฟองดูรส์
เป็นผู้หล่อ และเสด็จไปที่โรงหล่อเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2450 เพื่อให้ช่างถ่ายรูปเป็นต้นแบบปั้น
มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอู่ทองขัตติยนารี ราชเลขาธิการฝ่ายใน มีความตอนหนึ่งว่า
“เวลาบ่าย 4 โมงจึงได้ออกจากสถานทูตไปถ่ายรูปก่อน การถ่ายรูปนี้ก็เพื่อจะทำสเตชซู เขาขอให้ถ่ายสี่ด้าน
และอยากจะให้แต่งยูนิฟอร์มใหม่ แต่เผอิญยูนิฟอร์มไม่อยู่หมด เขาเอาไปทำตัวอย่างตัดยูนิฟอร์มใหม่
เหตุด้วยของเก่านั้นคับใช้ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะอ้วนอย่างเดียว เพราะเสื้อในหนาด้วย ที่ซึ่งถ่ายรูปนี้
ถ้าถ่ายในเมืองแล้วอาการหนัก ไปเห็นที่สตราสเบิคมันถ่ายอยู่ชั้นยอด
ได้ออกปากแล้วว่าอ้ายนี่ขืนให้ขึ้นไปถ่ายรูปไม่ถ่ายจริงๆ
แต่ที่ไหนวันนี้ถูกเหมือนกันกับที่ว่าจะไม่ถ่ายนั้นเอง มันขึ้นไปอยู่ถึงชั้น 7 นับแต่ชั้นพื้นขึ้นไปเป็นชั้นหลังคา
เพราะความจริงถ้าจะไม่ขึ้นไปอยู่เช่นชั้นนั้นไม่มีแดด แต่รอดตัวที่มีลิฟต์ขึ้นตั้งแต่ชั้นพื้นดินทีเดียวตลอดถึงชั้น 7
ดุ๊กกับจรูญไปด้วย ถูกขึ้นกะไดเกือบตาย ถ่าย 4 ด้านแล้วเขาขอถ่ายสำหรับร้านเองต่างหากด้วย”
ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2450 ขณะยังประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงหล่ออีกครั้ง
เพื่อประทับเป็นแบบให้นายช่างปั้นหุ่นพระบรมรูป มีรับสั่งให้ช่างแก้ไขหุ่นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ดังความในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 35 ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่า
“โรงปั้นนั้นลึกเข้าไปจากถนนใหญ่อีกชั้นหนึ่ง เขาปั้นม้างาม แต่รูปข้างบนนั้นใช้ไม่ได้ ผอม
ด้วยเอารูปกิงออฟสเปนมาเป็นตัวอย่าง ในเรื่องปั้นรูปยังไม่เป็นการเลย ทั้งรูปที่สำหรับจะขี่ม้า
แลรูปที่สำหรับจะหล่อเล็กๆ
เรื่องปั้นรูปนี้จะทำตามรูปถ่ายไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเงารูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ รูปเล็กที่ทำไว้แบนไปหมด
รูปใหญ่แก้มตอบแลเหี่ยวเป็นกลีบๆ ปากตุ่ยๆ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริงๆ พอพ่อลงไปนั่ง ฉวยดินปับ ก็แตะหัวก่อน
แก้หัวเสร็จแล้วจึงมาแก้หน้า ถมแก้มที่ลึกให้ตื้น ปะขมับที่ทำรัดไว้ให้นูนขึ้น ลดกลีบหน้า แก้คิ้ว
ที่ประดักประเดิดมากอยู่ที่ปาก เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆ ว่าต้องไปนั่ง แต่พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่ามันดี
เลยหายฉุน นั่งดูเสียเพลิน...”