การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475
โดยคิดที่จะรวมทุนจากนักเรียนเก่าวชิราวุธก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
แต่เมื่อข่าวแพร่หลายออกไป ประชาชนผู้จงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์จำนวนมาก
แนวความคิดที่จะประดิษฐานในโรงเรียนจึงเปลี่ยนไป สมาคมฯ มีความเห็นว่า
ควรจะประดิษฐานในที่สาธารณะซึ่งประชาชนสามารถเข้าสักการะได้โดยสะดวก และสมควรนำเสนอโครงการให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ
รัฐบาลขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
มีความเห็นชอบโครงการและรับดำเนินการตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องสร้างพระบรมรูปเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2482 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า สมควรที่จะสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าแห่งประเทศไทยในเบื้องบรรพ์
ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ในประวัติการณ์แห่งประเทศชาติ
เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงความจงรักภักดี และกตัญญูกตเวทิตาธรรมของประชาชนชาวไทย
และเป็นถาวรนิมิตรเชิดชูเกียรติประเทศไทยชั่วกาลนาน
ฉะนั้นจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระมหาราชเจ้ารวม 8 พระองค์ คือ พระเจ้าพรหมมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนาราย์มหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานไว้ในจังหวัดอันเป็นแหล่งหรือมูลเดิมแห่งการที่ก่อตั้งพระเกียรติประวัติของแต่ละพระองค์
โดยเหตุที่ได้มีคณะบุคคลผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังดำเนินการรวบรวมทุนเพื่อสร้างพระบรมรูปถวายเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์อยู่บ้างแล้วประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งเทศบาลนครกรุงเทพกำลังจะบูรณะสวนลุมพินี
ซึ่งได้สร้างขึ้นเพื่อฉลองรัชกาลของพระองค์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนคร
ซึ่งถ้าได้พระบรมรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ที่สวนลุมพินีในขณะนี้แล้วก็ย่อมเหมาะแก่กาละเทศะอย่างยิ่ง
โดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติให้ดำเนินการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม
กำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเปิดทันวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
สำนักนายกรัฐมนตรีวางระเบียบการสร้างและการเรี่ยไรเงินไว้ ดังนี้
- ให้กรมศิลปากรจัดออกแบบและดำเนินการสร้างพระบรมรูปตามอนุมัติคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จทันวันเปิด ณ วันที่ 1 มกราคม 2483
- ให้กรมโฆษณาการดำเนินการชักชวนเรี่ยไรเงิน โดยติดต่อกับคณะกรรมการจังหวัดต่างๆ และบุคคลหรือคณะบุคคลที่จะร่วมมือในการนี้
- เงินที่ใช้จ่ายในการก่อสร้าง ประมาณ 60,000 บาท ถ้าเรี่ยไรเงินได้มากกว่างบประมาณ รัฐบาลจะได้พิจารณาการใช้จ่ายเงินจำนวนที่เกินไปในทางเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าพระองค์นั้น ถ้าหากเงินที่เรี่ยไรได้ยังขาดเหลือประการใด รัฐบาลจะได้พิจารณาเงินมาช่วยจุนเจือต่อไป
คณะกรรมการจัดหาเงินเรี่ยไรมีเงินทุนจากการบริจาคตั้งแต่ พ.ศ. 2475
และได้ดำเนินการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์เป็นครั้งแรกที่สวนอัมพร ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม พ.ศ. 2482 ได้ยอดเงินประมาณแสนเศษ
เพียงพอสำหรับการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ คณะกรรมการอันประกอบด้วยกรมศิลปากร กรมโยธาเทศบาล
และสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยกำหนดงานเป็น 3 ระยะ คือ
- ทำเขื่อน ถมดิน ปรับที่ บริเวณโดยรอบซึ่งจะก่อสร้างฐานพระบรมรูปที่สวนลุมพินี
- ก่อสร้างฐานพระบรมรูป และตกแต่งเครื่องประดับอนุสาวรีย์
- หล่อและแต่งองค์พระบรมรูป